ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมยานยนต์ที่ก้าวหน้าที่สุดใน เอเชีย รถยนต์แต่ละยี่ห้อที่ผลิตออกมาจะแข่งขัน กันทั้งประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ความปลอดภัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางโดยรถนั้นก็มาควบคู่กับความสูญเสียจากการ เกิดอุบัติเหตุที่เป็นวาระสำคัญของทั่วโลกที่จะลดการสูญเสียทำให้ทุกชีวิตบน ท้องถนนปลอดภัย ซึ่งปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุสำคัญที่สุด ก็คือตัวผู้ขับขี่ เพราะแม้จะมีรถที่มีเทคโนโลยีดีขนาดไหน หรือสภาพถนนสมบูรณ์เพียงใดก็คงเกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุได้หากผู้ขับขี่ ขาดการตระหนักรู้และความระมัดระวัง ซึ่งในปี 2554–2563 นี้ สมัชชาสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety ) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ได้นำน้องนักศึกษาทีม Doctory จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ชนะเลิศการประกวดภาพยนตร์สั้น ในโครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางท้องถนน “ถนนสีขาว” ไปทัศนศึกษา ดูงานด้านการขับขี่ปลอดภัย ณ ศูนย์ศึกษาความปลอดภัยโตโยต้า–Mobilitas และ โรงเรียนสอนขับรถ Toyota Chubu Nippon Driver School ศูนย์ศึกษาความปลอดภัยโตโยต้า Mobilitas ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 หรือกว่า 14 ปีมาแล้วเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้มาเรียนรู้ทักษะการขับรถในสถานการณ์คับขันต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัย และการจัดการกับสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น ภายในสนามทดสอบการขับขี่บนพื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 15 สนามฟุตบอล มีครูผู้ฝึกสอนที่มีประสบการณ์ ซึ่งคณะดูงานได้ร่วมนั่งรถเข้าทดสอบในถนน 4 สถานการณ์ คือ สภาพถนนเปียกลื่น และทดลองเบรกกะทันหันด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กรณีขับหลบสิ่งกีดขวางและการขับขี่ในเส้นทางที่เป็นรูปตัวเอสและรูปตัวแซด โดยรถที่มีระบบ VSC ควบคุมการหมุนของรถไม่ให้รถพลิกคว่ำและขับรถโดยที่ไม่ใช้ระบบ VSC และกรณีการขับขี่บนถนนที่เอียงด้านข้าง35 องศา ทำให้ได้รับประสบการณ์ตรงในภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยครูผู้ฝึกสอนจะให้คำแนะนำในการขับขี่และการตัดสินใจที่ถูกต้อง Mr.Kanno Toshio หัวหน้าผู้ฝึกสอน กล่าวว่า การขับขี่รถต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง สนามแห่งนี้ได้ออกแบบให้ผู้ขับขี่ได้ฝึกประสบการณ์จากการขับขี่รถยนต์ใน สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะคนที่ขับรถไม่เคยรู้ในช่วงเวลาที่รถจะเกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งไม่สามารถทดลองได้บนท้องถนนทั่วไป โดยแต่ละสถานการณ์ที่ได้เลือกมาจำลองในสนามเป็นส่วนที่ได้สำรวจมาแล้วว่า เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยผู้ที่เข้ามาเรียนมีทั้งประชาชนทั่วไปและพนักงานขับรถที่หน่วยงานส่งมา เรียน โดย 1 คอร์สเรียน 1 วันใช้เวลา 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามผู้ที่ขับรถจะต้องมีน้ำใจต่อกันและขับขี่ด้วยความระมัดระวัง สำหรับสถิติอุบัติเหตุที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละประมาณ 20,000 คนในขณะนี้นั้น Mr.Kanno ให้ความคิดเห็นว่า “ในประเทศญี่ปุ่นก็เคยมีผู้เสียชีวิตสูงกว่าหมื่นคนเช่นกัน แต่เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาแล้วโดยสาเหตุก็คล้ายกับในเมืองไทยคือดื่มสุราและการใช้ความเร็ว สูง แต่สถิติมีผู้เสียชีวิตก็ลดลงเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 4,000 คน ซึ่งทุกหน่วยงานก็ได้ให้ความรู้และมีการปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ เยาวชนจนถึงผู้ใหญ่ และกฎหมายก็มีความเข้มงวดมาก” ที่ศูนย์ความปลอดภัย โมบิลิต้าส์ เป็นสถานที่ฝึกสอนแบบที่ผู้ขับขี่สมัครใจที่จะเข้ามาเรียนรู้และเสียค่าใช้ จ่ายในการฝึกเอง ไม่ใช่การบังคับเรียนเพื่อจะไปสอบใบขับขี่ ยังมีผู้ที่เข้ามาเรียนที่นี่กว่า 4,000 คนต่อปี สะท้อนได้อย่างหนึ่งว่าในประเทศญี่ปุ่นมีผู้ที่ใส่ใจในการขับรถเพื่อความ ปลอดภัยและเห็นเป็นเรื่องสำคัญมากเพียงใด ส่วนอีกสถานที่หนึ่งที่คณะทัศนศึกษาได้ไปเยี่ยมชม คือ โรงเรียนสอนขับรถ Toyota Chubu Nippon Driver School โรงเรียนแห่งนี้ ก็เปิดสอนมากว่า 50 ปีแล้ว สอนผู้ที่จะเข้าสอบขอรับใบอนุญาตขับรถ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นจะขอใบอนุญาตขับรถกับกรมตำรวจ ต่างจากประเทศไทยที่มีกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้รับผิดชอบ โดยการจะเปิดโรงเรียนสอนขับรถต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8,000 ตารางเมตร และครูฝึกจะต้องผ่านการสอบได้รับใบรับรองจากกรมตำรวจซึ่งต้องสอบทฤษฎีและ ปฏิบัติในการขับขี่ 6 ประเภทผ่านหมดภายใน 1 ปี ที่โรงเรียนแห่งนี้มีครูผู้ฝึกสอน 130 คน ส่วนสนามฝึกการขับรถนั้นมี
ทั้งสนามสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และมีการจำลองเพื่อให้ผู้เรียนได้ขับรถในลักษณะต่าง ๆ เช่น การหยุดจอดรถขณะขึ้นสะพาน ลงสะพาน การหยุดรถบริเวณทางแยก ทางข้ามทางรถไฟ การขับรถในถนนที่มีความโค้ง ทั้งแบบตัวแซด และตัวเอส การขับรถบนทางแคบ การถอย การจอด ซึ่งสนามมีความสมบูรณ์ แทบจะเรียกได้ว่ามีครบทุกรูปแบบการขับรถในชีวิตประจำวันเลยทีเดียว และยังผลิตหนังสือสอนขับรถที่ได้มาตรฐาน ทั่วประเทศมีโรงเรียนสอนขับรถราว 1,300 แห่ง คนญี่ปุ่นปัจจุบันกว่า 81 ล้านคนจากประชากร 128 ล้านคนมีใบขับขี่ และคนที่ได้ใบขับขี่ 95 เปอร์เซ็นต์จะผ่านการเรียนจากโรงเรียนสอนขับรถ ซึ่งคนที่ไม่เรียนแล้วไปสอบเปอร์เซ็นต์สอบผ่านน้อยมากเพราะจะไม่ทราบวิธีการ ขับที่ถูกต้อง เพราะค่าเช่าสนามสำหรับซ้อมการสอบปฏิบัตินั้นค่าเช่าแพงถึงชั่วโมงละ 3,000 เยนหรือเกือบ 400 บาท ซึ่งกว่าจะขับคล่องคงเสียค่าเช่าบาน คนส่วนใหญ่จึงตัดสินใจมาเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราวเลยดีกว่า 1 หลักสูตรภาคทฤษฎี 26 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 31ชั่วโมง (รถเกียร์ออโต้) และ 34 ชั่วโมง (รถเกียร์ธรรมดา) มีค่าใช้จ่ายในการเรียนรถเกียร์ออโต้ 341,900 เยน ส่วนรถเกียร์ธรรมดา 356,900 เยน หรือคิดเป็นเงินไทย เกือบ 100,000 บาทเลยทีเดียว และในการสอบใบขับขี่แต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่าย ครั้งละ 2,400 เยนหรือเกือบ 1,000 บาท โดยสอบข้อเขียนมี 100 ข้อจะต้องได้คะแนน 90 คะแนนขึ้นไป เมื่อผ่านจึงจะได้สอบภาคปฏิบัติ หากสอบไม่ผ่านจะต้องรออีก 1 เดือนจึงจะสามารถสอบใหม่ได้ ส่วนผู้ที่สอบผ่าน จะต้องเสียค่าทำใบขับขี่อีก 1,000 เยน หรือประมาณ 400 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายในเรื่องการซื้อรถ ซึ่งการซื้อรถก็ต้องถูกสัมภาษณ์เพื่อดูว่ามีความสามารถทางการเงินที่จะดูแล รถรวมไปถึงมีสถานที่สำหรับจอดรถหรือไม่ จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้จับพวงมาลัยขับรถในประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย โดยตามสถิติแล้วชาวต่างชาติที่ได้ใบขับขี่สากลแล้ว เมื่อจะมาขับรถในประเทศญี่ปุ่นเพื่อขอใบขับขี่ญี่ปุ่นยังต้องสอบภาคปฏิบัติ กันอย่างน้อย ๆ ก็ 3 ครั้งขึ้นไปถึงจะผ่าน บางคนต้องสอบกันถึง 7 ครั้งก็มี และต้องมาสอบต่อใบขับขี่ทุก ๆ5 ปี โดยผู้ที่จะสอบใบขับขี่รถยนต์ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยเมื่อมีรถขับแล้วประเทศญี่ปุ่นยังมีกฎหมายให้ผู้ขับรถต้องจ่ายค่ากำจัดรถ ที่ต้องชำระไว้ตั้งแต่เริ่มซื้อรถด้วย โดยคิดราคาตามซีซีของรถ รถขนาด 1,500 ซีซีต้องจ่ายค่ากำจัดขยะรถที่ 15,000– 25,000 เยน เมื่อแจ้งไม่ใช้รถแล้วจะมีบริษัทฯมารับรถไปชำแหละและกำจัดต่อไป นอกจากนี้กฎหมายที่บังคับใช้ก็เป็นส่วนสำคัญประกอบกับมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ คนตระหนักการขับขี่ให้ถูกกฎ แม้จะไม่เห็นตำรวจบนท้องถนน แต่เครื่องมืออัจฉริยะต่าง ๆ ก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการตัดแต้มที่เข้มงวดมาก เมื่อทำผิดกฎใบสั่งจะส่งไปถึงบ้าน และต้องชำระค่าปรับซึ่งสามารถไปชำระที่ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ได้ หากไม่มาชำระภายใน 8 วันหลังจากนั้นจะมีใบเตือนจากกรมตำรวจให้ไปชำระค่าปรับ โดยภายใน 11 วันหลังจากนั้นไม่ชำระค่าปรับอีก จะต้องไปขึ้นศาลอาญาหรือศาลครอบครัว จะเห็นได้ว่า นอกจากการปลูกฝังที่ต้องสร้างจิตสำนึกกันตั้งแต่เยาวชนแล้ว ยังมีกระบวนการทางสังคมในการสร้างความตระหนักรู้ไม่ว่าจะภาคสมัครใจที่มี พื้นที่สนามทดลองให้ได้อยู่ในสถานการณ์คับขันต่าง ๆ หรือโดยภาคบังคับตามกฎระเบียบ ขั้นตอนที่กว่าจะได้ใบขับขี่ หรือการที่คนจะมีรถใช้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ประเทศญี่ปุ่นใช้เวลากว่า 40 ปีในการลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจาก 16,700 คน ลงมาจนเหลือ 4,863 คนในปี 2553 สำหรับบ้านเราคนตายจากอุบัติเหตุทุกวันนี้ใกล้เคียงกับเมื่อ 40 ปีที่แล้วของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นทั้งภาครัฐและทุกภาคส่วน ควรร่วมขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมในเร็ววัน
ข้อมูลจาก เดลินิวส์ ออนไลน์
|