-
Section:
News -
-
ข่าว hot ญี่ปุ่น
ข้อพิพาทดินแดนระหว่างญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้านกลับมาเป็นกระแสร้อนแรงอีกครั้งในวาระครบรอบ 67 ปีแห่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่การที่ผู้นำเกาหลีใต้เดินทางไปเยือนหมู่เกาะ “ด๊กโด” หรือ “ทาเกชิมะ” จนถึงเหตุนักเคลื่อนไหวชาวจีนและญี่ปุ่นแล่นเรือเข้าไปยังหมู่เกาะ “เซ็งกากุ” หรือ “เตี้ยวอี๋ว์” จนนำไปสู่การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรงตามเมืองต่างๆของจีน ซึ่งการเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นติดๆกันในช่วงไม่กี่สัปดาห์อาจนับเป็นสัญญาณบอก “ความป่วยไข้” ของการเมืองญี่ปุ่น ซึ่งเปิดทางให้จีนและเกาหลีใต้ฉวยโอกาสใช้ข้อพิพาทเป็นเครื่องมือปลุกกระแสชาตินิยมเรียกคะแนนจากพลเมือง ในช่วงที่ทั้ง 2ประเทศกำลังก้าวไปสู่การเปลี่ยนผู้นำ
|
กรณีพิพาทหมู่เกาะระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศใกล้เคียงปะทุขึ้นถึง 3 ครั้ง 3 กรณีภายในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน เริ่มจากต้นเดือนกรกฎาคมที่นายกรัฐมนตรี ดมิตรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซียไปเยือนหมู่เกาะคูริล ซึ่งญี่ปุ่นถือว่าเป็น “ดินแดนตอนเหนือ” ที่ถูกสหภาพโซเวียตช่วงชิงไปก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดเพียงไม่กี่วัน โดยนายกรัฐมนตรีรัสเซียยังแสดงอาการไม่ยี่หระว่าญี่ปุ่นจะคิดเห็นอย่างไร
ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม ประธานาธิบดี อี มย็อง-บัก แห่งเกาหลีใต้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังหมู่เกาะด๊กโดหรือทาเกชิมะ โดยอ้างว่าต้องการประท้วงที่ญี่ปุ่นทำเพิกเฉยไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยแก่สตรีที่ถูกทหารญี่ปุ่นใช้เป็นเครื่องบำเรอกามในช่วงที่เข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่ญี่ปุ่นยืนยันว่า ประเด็นดังกล่าวได้ชดเชยกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในข้อตกลงฟื้นสัมพันธ์การทูตเมื่อปี 1965 และยังท้าให้เกาหลีใต้นำปัญหาหมู่เกาะทาเกชิมะไปตัดสินกันในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
จากนั้นไม่กี่วัน นักเคลื่อนไหวชาวจีน 14 คน ได้แล่นเรือขึ้นไปโบกธงชาติจีนบนหมู่เกาะเซ็งกากุหรือเตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งเป็นดินแดนที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์แต่ญี่ปุ่นครอบครองอยู่โดยนิตินัย ทางการญี่ปุ่นสั่งเนรเทศชาวจีนกลุ่มนี้ในเวลาไม่กี่วัน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2010 แต่ทว่ากลับเป็นการจุดกระแสความไม่พอใจภายในแดนอาทิตย์อุทัยเอง
วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม นักเคลื่อนไหวชาตินิยมกลุ่ม “กัมเบระ นิปปอน” ราว 100 คนได้นำขบวนเรือแล่นผ่านหมู่เกาะเซ็งกากุ สมาชิกบนเรือ 10 คนว่ายน้ำขึ้นไปปักธงชาติญี่ปุ่นบนไหล่เขาและตามแนวชายฝั่งของเกาะแห่งหนึ่ง ท่ามกลางเรือยามฝั่งญี่ปุ่นที่จอดอยู่ใกล้เคียง
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาประณามว่าญี่ปุ่นละเมิดอธิปไตยเหนือดินแดนของตน และยื่นประท้วงต่อสถานทูตญี่ปุ่นทันที ขณะที่ไต้หวันซึ่งเป็นอีกประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะแห่งนี้เช่นกันก็ได้เรียกผู้แทนญี่ปุ่นมารับฟังการประท้วงต่อการกระทำที่ “ยั่วยุ” เช่นนี้
|
กระแสต่อต้านญี่ปุ่นได้ลุกลามไปตามเมืองต่างๆของจีน อาทิ กวางโจว, เซินเจิ้น และชิงเต่า โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้นักเคลื่อนไหวญี่ปุ่นออกจากหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ บางรายเข้าทุบทำลายร้านค้าของชาวญี่ปุ่น และพลิกคว่ำทำลายรถยนต์ญี่ปุ่นเสียหายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้โตเกียวต้องออกมาเรียกร้องให้จีนช่วยปกป้องพลเมือง และอย่านำประเด็นพิพาทหมู่เกาะมาบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ญี่ปุ่นอ้างว่าเริ่มสำรวจหมู่เกาะเซ็งกากุตั้งแต่ปี 1885 และพบว่าเป็นดินแดนที่ “ปราศจากผู้อยู่อาศัย และไม่มีร่องรอยการครอบครองของจีน” ต่อมาจึงได้ทำเครื่องหมายผนวกหมู่เกาะเซ็งกากุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อวันที่ 14 มกราคม ปี 1895
รัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่า จีนและไต้หวันเพิ่งจะมาอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซ็งกากุในทศวรรษที่ 1970 หลังพบความเป็นไปได้ว่าท้องทะเลบริเวณนี้อาจเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่
ด้านสำนักข่าวซินหัวของจีนก็อ้างบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ที่ย้อนไปถึงสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง (1403-1424) และแผนที่ที่ญี่ปุ่นตีพิมพ์เมื่อปี 1780 ก็ดูจะสนับสนุนคำกล่าวอ้างของจีนด้วย
จีนระบุว่า อธิปไตยของตนเหนือหมู่เกาะแห่งนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่ว ก่อนที่ผลของสงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่นในปี 1894-5 จะทำให้เกาะเตี้ยวอี๋ว์ตกไปอยู่ในความครอบครองของญี่ปุ่นและไต้หวัน
|
ข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะกับอดีตอาณานิคมถือเป็นวิกฤตที่ซ้ำเติมรัฐบาล โยชิฮิโกะ โนดะ ซึ่งต้องเผชิญทั้งกระแสต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ ตลอดจนคำวิจารณ์แผนขึ้นภาษีผู้บริโภคเพื่อลดหนี้สาธารณะที่สูงท่วมเพดาน ทั้งหมดนี้ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลร่วงดิ่งเหว จนมีแนวโน้มว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้
หมู่เกาะพิพาททั้ง 3 แห่งนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรในเชิงปิโตรเคมี, แร่ธาตุ และการประมงแล้ว ยังมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกในยุคที่จีนเริ่มขยายอิทธิพล
ฮิเดชิ ทาเกซาดะ อาจารย์ผู้สอนวิชาเอเชียศึกษาจากมหาวิทยาลัยยอนเซในเกาหลีใต้ อธิบายว่า หมู่เกาะเซ็งกากุเป็นเสมือน “หน้าต่าง” สู่ภาคพื้นทวีป หากญี่ปุ่นเสียหมู่เกาะแห่งนี้ให้กับจีน ก็เปรียบเสมือนเสียเมืองหน้าด่าน และหากไม่ตอบโต้อย่างแข็งกร้าว ก็จะยิ่งเพิ่มความได้เปรียบต่อปักกิ่งในข้อพิพาทด้านอื่นๆ
ทาเกชิ เทราดะ อาจารย์มหาวิทยาลัยโดชิชะ เมืองเกียวโต ให้ความเห็นว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากความอ่อนประสบการณ์ของพรรค เดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ เจแปน ซึ่งเพิ่งจะฝ่าด่านอรหันต์ของพรรคแอลดีพีที่ครองอำนาจอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 5 ทศวรรษเข้ามาเป็นรัฐบาลได้เมื่อปี 2009 นี้เอง นอกจากนี้ การเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลหลายครั้งในรอบไม่กี่ปีก็ยิ่งบั่นทอนความเข้มแข็งของการเมืองญี่ปุ่น จนทำให้คู่ขัดแย้งย่ามใจว่าญี่ปุ่นคงไม่สามารถตอบโต้การยั่วยุต่างๆได้เต็มที่
ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นเคยมอบแก่เพื่อนบ้านช่วยให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทางประนีประนอมมาโดยตลอด แต่หลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มถดถอย ซึ่งตรงข้ามกับจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวาง ดุลอำนาจในภูมิภาคนี้จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
กระแสต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯของชาวเกาะโอกินาวาที่ทำให้วอชิงตันกับโตเกียวเริ่มหมางใจกัน ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คู่กรณีของญี่ปุ่นกล้ามีปากมีเสียงมากขึ้น
กระนั้นก็ดี นักวิเคราะห์ก็เตือนว่าญี่ปุ่นไม่อาจแก้สถานการณ์ด้วยการหันไปพึ่งอิทธิพลของพญาอินทรีเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะสหรัฐเองก็ต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนไว้ และยิ่งไม่ต้องการขัดแย้งกับจีนและเกาหลีใต้โดยไม่จำเป็น
กระบวนการเปลี่ยนผู้นำในจีนและเกาหลีใต้ยังเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้ทั้ง 2 ชาติพยายามโหมกระแสพิพาทดินแดนกับญี่ปุ่นในช่วงนี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์รัฐบาลที่เข้มแข็ง และดึงคะแนนนิยมจากพลเมืองของตนเอง
แม้การปะทะด้วยกำลังทหารอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้ แต่แนวโน้มการสะสมอาวุธในภูมิภาคนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า การเผชิญหน้าระหว่างญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้านใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
|
Tags: เกาะด๊กโด | เกาะทาเกชิมะ | เซ็งกากุ | เตี้ยวอี๋ว์
แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2012 เวลา 13:35 น.