สายเคเบิลใต้น้ำรับส่งข้อมูลความเร็วสูงเปิดใช้งานแล้วในเอเชีย โดยจะเชื่อมต่อระหว่างญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งสามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็ว 40 กิกะไบท์ต่อวินาที
โครงข่ายเคเบิลใต้น้ำที่เรียกว่า "เอเชีย ซับมารีน-เคเบิล เอ็กซ์เพรส" (Asia Submarine-cable Express) หรือเอเอสอี จะมีความยาวทั้งสิ้น 7,800 กม. และจะทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลผ่านสายเคเบิลไฟเบอร์ออพติคที่ความเร็ว 40 กิกะบิตต่อวินาที และมีความเร็วกว่าสายเคเบิลเส้นอื่นที่เชื่อมระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่นถึง สามพันส่วนหนึ่งล้านวินาที อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจะไม่มากนัก แต่สามารถช่วยให้การค้าและการเงินในภูมิภาคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสิ่งที่เรียกว่า "การค้าความถี่สูง"นี้ จะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และสามารถส่งข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆจำนวนนับแสนครั้ง ได้ภายในเวลาน้อยกว่า 1 วินาที ที่จะผ่านการวิเคราะห์โดยโปรแกรมที่สำรวจสภาพตลาด เส้นทางการเดินสายเคเบิลดังกล่าว ถูกปรับให้เป็นเส้นตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ เพื่อลดเวลาในการส่งข้อมูลให้เหลือน้อยที่สุดระหว่างทั้งสองประเทศ ให้เหลือเพียง 65,000 ส่วนหนึ่งล้านวินาที ในอัตราความเร็ว 40 Gbps หรือเทียบได้กับการดาวน์โหลดดีวีดีหนึ่งแผ่นที่มีความคมชัดสูงภายใน 2 วินาที การเปิดใช้ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากบริษัทด้านโทรคมนาคมชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ Telstra International จากออสเตรเลีย, Chunghwa Telecom ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของไต้หวัน NTT Communications จากญี่ปุ่น และ Pacnet ผู้ให้บริการการสื่อสารระดับโลก ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกงและสิงคโปร์ การเดินสายครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่สายเคเบิลที่มีอยู่เดิมได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปีก่อน และจากเหตุแผ่นดินไหวที่ไต้หวันเมื่อปี 2006 ที่กระทบระบบการสื่อสารระหว่างประเทศในเอเชีย ที่ทำให้วงจรโทรศัพท์กว่า 500,000 วงจร และอินเตอร์เน็ตอีกกว่า 150,000 วงจร ได้รับความเสียหายหนัก โดยการซ่อมแซม ผู้ให้บริการโทรศัพท์ ต้องส่งเรือพร้อมกับหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล ที่สามารถดำลงไปในระดับความลึกกว่า 2,500 เมตร ทั้งนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ อาทิ PLDT บริษัทด้านการสื่อสารชั้นนำของฟิลิปปินส์, StarHub ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับสองของสิงคโปร์ และ Telekom Malaysia จากมาเลเซีย
ที่มา : มติชนออนไลน์ |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|