การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ฤกษ์เปิดฉากอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อคืนวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา โดย แดนนี บอยล์ ผู้กำกับชื่อดังมอบหมายให้เยาวชนนักกีฬาทั้งหมด 7 ราย รับหน้าที่จุดไฟเปิดการแข่งขัน
ลอนดอน นับเป็นเมืองแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกถึงสามครั้ง เริ่มจากในปี 1908 จากนั้นได้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปี 1948 โดยมี 59 ชาติสมาชิกเข้าร่วมการแข่งขัน และในครั้งนี้ลอนดอนหวนกลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง โดยมี นักกีฬาจำนวน 10,490รายจากชาติสมาชิก 204 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน
โดยพิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2555 โดยบรรยากาศในกรุงลอนดอน นั้นเต็มไปด้วยสีสัน ที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ในทุกที่อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวของมหานครแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่จัตุรัส ทาฟราการ์ สแควร์, ทาวเวอร์บริดจ์ สวนสาธารณไฮด์พาร์ค บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเธมส์ รวมไปถึงแลนด์มาร์คอันโด่งดังอย่าง "อายออฟลอนดอน"
สำหรับพิธิเปิดการแข่งขันนั้นเริ่มต้นขึ้นในเวลา 15.00 น. โดยเจ้าภาพได้จัดกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั่วกรุงลอนดอน มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจรอบกรุงลอนดอนก่อนพิธีเปิดจะเริ่มต้น 24 ชั่วโมง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ต้องรับบทบาทหนักในการดูแลความปลอดภัยตามสถานีรถไฟฟ้า ในแหล่งชุมชน รวมไปถึง บริเวณเส้นทางเข้าออกโอลิมปิกพาร์ค ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญไปยัง หมู่บ้านนักกีฬา สนามการแข่งขัน รวมไปถึง ศูนย์สื่อมวลชน
โดยหมายกำหนดการของพิธีเปิดนั้น มีการแสดง และ พิธีการรวมทั้งสิ้น 13 ช่วงโดยซึ่งการแสดงทั้งหมดนั้น กำกับการแสดงโดย แดนนี่ย์ บอยล์ ผู้กำกับการแสดงชื่อดังของอังกฤษ โดยมีผลงานอันเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์เรื่อง Trainspotting, 28 Days Later และที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง Millions and Slumdog Millionaire ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลออสก้าไปด้วยกันถึง 8 สาขา
สำหรับการแสดงในชุดแรกนั้นมีชื่อว่า Countdown ใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ สามนาทียี่สิบหกวินาที โดยการแสดงชุดนี้ใช้ผู้แสดงมากกว่า 180 คน ซึ่งจะเล่าเรื่องจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเธมส์แม่น้ำสายสำคัญของกรุงลอนดอน อันมีต้นกำเนิดที่กลอสเตอร์เชียร์ จากนั้นไหลลงมาสู่ คอตส์วูลด์ ฮิลล์ ก่อนจะกลายเป็นแม่น้ำเธมส์ หัวใจสำคัญของผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอน
หลังทำความรู้จักกับแม่น้ำสายสำคัญของกรุงลอนดอน จากนั้น แบรดลีย์ วิกกินส์ นกปั่นจักรยานเจ้าของแชมป์ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ 2012 ได้ออกมาสั่นระฆังเปิดพิธีการแล้ว การแสดงชุดที่สอง Green and Pleaseant Land ซึ่งใช้ผู้แสดงมากกว่า 500 คน คือการแสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่แบบชนบทอังกฤษ ที่มีทั้งความสดชื่นของผู้แสดงรวมไปถึงสายลมและแสงแดดของดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ และ เป็นดินแดน ที่ให้กำเนิดตัวการ์ตูนชื่อดังก้องโลกอย่าง วินนี่ เดอะ พูห์ เมื่อสัมผัสกับความเป็นอยู่ของชนบทอังกฤษไปแล้ว
แดนนี่ย์ บอยล์ เล่าเรื่องถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศในการแสดงชุดที่สาม Pandemonium เป็นการแสดงที่ ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นว่าอังกฤษเป็นจุดกำเนิดของการประวัติอุตสาหกรรม เปรียบเสมือน เวิร์คชอปของโลกใบนี้ และ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญของมนุษยชาติกับบาดแผลอันเป็นความทรงจำที่มิอาจลืมเลือนจากสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อการแสดงผ่านไปสามชุด ก็เข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญที่เจ้าภาพให้ชื่อว่า Happy & Glorious ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่สอง เสด็จพร้อมกับ พระสวามีมายังสนาม โดยมีฌาคส์ โรกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เป็นผู้นำเข้าสู่สนาม โดยมี แดเนียล เคร็ก นักแสดงชื่อดังเจ้าของบทบาท เจมส์ บอนด์ 007 สายลับชื่อดังของเกาะอังกฤษ ร่วมแสดงภาพยนตร์ตัวอย่างสั้นๆก่อนเข้าพิธีอีกด้วย จากนั้นจะมีการเชิญธงชาติอังกฤษขึ้นสู่ยอดเสา ในระหว่างนั้นบนอัฒจันทร์ได้ถูกแต่งแต้มด้วยสีแดง ขาว และ น้ำเงิน ซึ่งปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการครองราชครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่สอง ซึ่งคนทั่วโลกรู้จักกันในชื่อปีว่า "โกลเดน จูบิลี่"
หลังจากให้การต้อนรับ พระราชินีและพระสวามีเป็นที่เรียบร้อย การแสดงในสนามชุดต่อมาคือ Second to the right and straight on till morning การแสดงชุดนี้เป็นเกียรติให้กับบทประพันธ์สำหรับเยาวชนอย่าง ปีเตอร์ แพน และ กัปตัน คุก แมรี่ย์ ปอปปินส์ วินนี่ เดอะ พูห์ และนักประพันธ์หญิงชื่อดังที่สร้างพ่อมดน้อย แฮร์รี่ย์ พอตเตอร์ ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกกับ เจเค โรลลิ่ง
ทั้งนี้แนวคิดในพิธีเปิดของ แดนนี่ บอยล์ ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นชนชาติที่มีทั้งศิลปะ และ หัวใจของการพัฒนาผ่านการแสดง อันมีคาแรคเตอร์ของตัวแสดงที่ไล่ตามยุคอย่าง ชาร์ลีย์ แชปลิน และ สแตน ลอเรล เรื่อยมาถึงเจมส์ บอนด์ จนมาที่ แฮร์รี่ย์ พอตเตอร์ และผู้กำกับชื่อดังสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ชมในสนามอีกครั้งด้วยชื่อชุด Interlude เริ่มต้นด้วยบทเพลงจาก ลอนดอน ซิมโฟนี่ ออร์เครสตร้า โดยมีวาทยากรชื่อดังอย่าง เซอร์ ไซมอน รัทเทิล ทำหน้าที่ควบคุมวงและการแสดงในชุดต่อมาได้เรียกรอยยิ้มให้กับผู้ชมทั้งในและนอกสนาม เมื่อ "มิสเตอร์บีน" โรวัน แอตคินสัน ปรากฎตัวในการแสดงชุดนี้
จากนั้นการแสดงเดินทางมาถึงชุด Frankie & June say thanks Tim เป็นการแสดงให้เห็นถึง เรื่องราวสามัญของครอบครัวชาวอังกฤษ เรื่องราวระหว่างลูกสาววัยรุ่น กับพ่อแม่ในแบบฉบับครอบครัวของชาวอังกฤษ แต่แสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตแบบลอนดอนเนอร์อย่างชัดเจน เมื่อแดนนี่ บอยล์ ได้ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักชีวิตแบบคนอังกฤษแท้ การแสดงชุดต่อมา Abide with me นับเป็นการกระชากอารมณ์ของผู้ชมให้หวนกลับไปซาบซึ้งกับบทเพลงของ เฮนรี่์ ฟรานซิส Abide with me ซึ่งแต่งขึ้นในปี 1847 และหลังจากประพันธ์เพลงนี้จบ ฟรานซิส เสียชีวิตจากนั้นอีกเพียงสามสัปดาห์ เป็นเพลงที่แสดงให้เห็นถึงการจากพราก เพราะความตาย โดยการแสดงในชุดนี้จะเป็นการนำเอาภาพของบุคคลอันเป็นที่รักที่ไม่มีชีวิตอยู่จนได้เห็นลอนดอน 2012 หลังจากนั้น จะเป็น การขับร้องบทเพลง Abide With Me โดย อัครัม ข่าน และ เอเมลี่ ซานเด
เมื่อจบการแสดงในชุด Abide With Me ก็ได้มีการฉายภาพการนำเปลวเพลิงโอลิมปิก เดินทางมายังโอลิมปิก สเตเดียม ในช่วงค่ำคืน โดย เดวิด เบ็คแฮม นักฟุตบอลชื่อดังชาวอังกฤษ รับหน้าที่ขับเรือพาเปลวเพลิงล่องผ่านแม่น้ำเธมส์ ก่อนเข้าสนาม จากนั้นก็ถึงช่วงเวลาสำคัญที่เจ้าภาพให้ชื่อว่า 9 Welcome เป็นการเดินเข้าสู่สนามของนักกีฬาจำนวน 204 ชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก มีนักกีฬารวมทั้งสิ้น 10,490ราย โดยทัพนักกีฬาจำนวน 204 ชาติจะมีผู้นำที่ขบวนโดยสวมใส่เสื้อผ้าที่เพนท์ใบหน้าของเหล่าลอนดอนเนอร์ ที่เข้าร่วมออดิชั่นในพิธีเปิดการแข่งขัน
นอกจากนี้เพลงที่จะเปิดในระหว่างนักกีฬาเดินเข้าสู่สนาม นั้นประกอบไปด้วย "โรลลิ่ง อินเดอะ ดีพ" ของ อเดล, "สเตอิ่ง อไลฟ์" โดยบีจี "เวสต์เอนด์เกิร์ล" โดยเพท ชอป บอย และ "ฮีโรส์" โดยเดวิด โบวี่ โดย กรีซ ได้รับเกียรติเดินเข้ามาเป็นลำดับแรกในฐานะชาติที่ให้กำเนิดการแข่งขันโอลิมปิก เรื่อยมาจนถึงคณะนักกีฬาไทย ที่เดินเข้ามาเป็นลำดับที่ 183 ซึ่งมี "เจมส์บอนด์" ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ นักกีฬาว่ายน้ำเป็นผู้ถือธงไตรรงค์เข้าสู่สนาม ก่อนที่ขุนพลนักกีฬาของสหราชอาณาจักร "ทีมจีบี" จะเดินเข้ามาเป็นคณะสุดท้าย
หลังจากนักกีฬาเดินเข้าสู่สนามเป็นที่เรียบร้อย แดนนี่ บอยล์ ได้จัดการแสดงอีกชุดในชื่อ Bike a.m เป็นการแสดงให้เห็นถึงชีวิตของคนอังกฤษที่มีจักรยานอยู่ในชีวิตประจำวัน จากนั้นพิธีเปิดอย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นขึ้นในและมีชื่อช่วงว่า Let the Games Begin
เริ่มด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ของ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล จากนั้นมีการเชิญธงของไอโอซีขึ้นสู่เสาอย่างเป็นทางการ ก่อนที่สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่สองจะทรงกล่าวเปิดการแข่งขัน จากนั้นเป็นการทำพิธีเชิญธงโอลิมปิกขึ้นสู่ยอดเสา ซึ่งพิธีนี้มี มูฮัมหมัด อาลี ตำนานนักชกผู้ยิ่งใหญ่ตลอดการร่วมพิธีนี้ ก่อนที่ เบ็คแฮม จะขับเรือสปีดโบ๊ธ มายังหน้าสนามเพื่อส่งต่อเปลวเพลิงผ่านคบเพลิงในมือของ เซอร์ สตีฟ เรดเกรฟ อดีตนักกีฬาพายเรือเหรียญทองโอลิมปิก 5 สมัย จะนำเปลวเพลิงเข้าสู่สนามต่อไป
ช่วงเวลาสำคัญที่คนทั่วโลกรอคอยภายใต้ชื่อ There is a light that never goes out ซึ่งเป็นการจุดไฟในกระถางคบเพลิง ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของพิธีเปิดการแข่งขัน โดยผู้ที่รับหน้าที่จุดไฟโอลิมปิกเปิดพิธีการแข่งขันอย่างเป็นทางการคือเหล่านักกีฬาเยาวชนของเจ้าภาพทั้งหมด 7 ราย และหลังเสร็จสิ้น เซอร์ พอล แมคคาร์ทนี่ย์ ตำนานแห่งวงเดอะ บีทเทิลส์ จะมาปิดท้ายพิธีเปิดด้วยการแสดงในชื่อ And in the end โดยอดีตสมาชิกสี่เต่าทองชื่อดังจะแสดงสดในเพลง The End และ Hey Jude ซึ่งภาพทั้งหมดของพิธีเปิดกว่าสามชั่วโมงที่เจ้าภาพจัดขึ้นนั้นได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมที่อยู่ในโอลิมปิกสเตเดี้ยม และ ชมผ่านการถ่ายทอดสดทั่วสนามมิใช่น้อย
|