เอเจนซี - ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่อต้านการเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ ระหว่างซ่อมบำรุง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อพลังงานปรมาณู หลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะเมื่อปีที่แล้ว ผลสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮี เผยวันนี้(13) รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะเปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเติมบางแห่ง เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากปัจจุบันมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังผลิตไฟฟ้าอยู่เพียง 2 เครื่องจากทั้งหมด 54 เครื่อง ซึ่ง 2 เครื่องที่ว่านี้ก็ครบกำหนดที่จะต้องปิดซ่อมบำรุงแล้ว ยูกิโอะ เอดาโนะ รัฐมนตรีพาณิชย์ญี่ปุ่น เตือนว่า ไม่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใดที่จะเปิดใช้ได้ทันในฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าไปราวร้อยละ 10 ในช่วงที่ความต้องการพลังงานสูงขึ้น ผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 57 ไม่ต้องการให้รัฐบาลเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก ขณะที่ร้อยละ 80 ไม่เชื่อมั่นมาตรการความปลอดภัยของรัฐบาล ชาวแดนอาทิตย์อุทัยเริ่มหวาดกลัวอันตรายจากพลังงานนิวเคลียร์ หลังเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 9.0 เมื่อเดือนมีนาคมปี 2011ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่พัดทำลายชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของ ญี่ปุ่นจนราบเป็นหน้ากลอง ทั้งยังสร้างความเสียหายแก่เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลก ถัดจากเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของยูเครนระเบิด เมื่อปี 1986 รัฐบาลญี่ปุ่นทำการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทุกแห่ง เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นจากสาธารณชนที่ยังคงไม่มั่นใจในพลังงานนิวเคลียร์ ขณะที่ฝ่ายบริหารท้องถิ่นซึ่งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่เรียกร้องให้ รัฐบาลใช้กระบวนการทดสอบที่รัดกุม และคำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะด้วย หลังเกิดวิกฤตการณ์ฟูกูชิมะ รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า จะลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ทั้งในระยะกลางและระยะยาว จากเดิมที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการพลังงานในประเทศถึงร้อยละ 30 ญี่ปุ่นต้องหันมานำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เพื่อทดแทนสัดส่วนพลังงานที่หายไปจากการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ข้อมูลจาก ผู้จัดการ ออนไลน์
|
Tags: ข่าวญี่ปุ่น | คนญี่ปุ่น | ต่อต้าน | ประท้วง | รัฐบาลญี่ปุ่น | โรงไฟฟ้านิวเคลียร์